ถึง…เธอ
จดหมายฉบับที่แล้วผมเขียนมาเล่าคุณถึงเรื่องอาหารอร่อยๆอย่างราเมนไปแล้ว ในจดหมายฉบับนี้ผมอยากเปลี่ยนแนวมาเล่าถึงการท่องเที่ยวให้คุณอ่านบ้าง
เรื่องของการท่องเที่ยวที่ผมอยากจะเล่าเป็นการเดินทางครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดในชีวิตเพราะการเดินทางครั้งนั้นทำให้ผมค้นพบและเปิดโลกอะไรใหม่ๆหลายอย่างให้กับผม นอกจากนั้นยังเป็นการเดินทางไปยังจุดหมายแบบที่ผมชอบด้วย เขียนถึงตรงนี้คุณเองก็คงทราบดีว่าโดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวแต่ละคนจะมีแนวการท่องเที่ยวที่ชื่นชอบเป็นของตนเอง
สำหรับตัวผม หากใครมาถามว่าชอบท่องเที่ยวแนวไหน ผมสามารถตอบได้ทันทีว่าผมชอบท่องเที่ยวแนวอารยธรรมโบราณและสถาปัตยกรรมโบราณ
ตัวอย่างที่ผมใช้บ่อยๆในการตอบคำถามนี้คือ…ถ้าให้เลือกระหว่าง อิตาลี กับ สวิสเซอร์แลนด์ ผมจะเลือกไปอิตาลีแบบไม่ลังเล
ผมอยากจะใช้เวลาดื่มด่ำจินตนาการไปถึงเรื่องราวของผู้คนและเหตุการณ์ในการอดีตที่ผ่านมาว่าเขาสร้างโคโลสเซียมที่แสนจะยิ่งใหญ่ได้อย่างไร มากกว่าไปยืนหนาวชมความงามของทะเลหิมะขาวโพลนสุดลูกหูลูกตาบนยอดเขาจุงเฟรา
ด้วยเหตุนี้จุดหมายปลายทางส่วนใหญ่ในการเดินทางของผมจึงมักจะเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญๆ ของโลก ซึ่งในฐานะนักท่องเที่ยวสายนี้ ผมคิดว่าผมคงไม่สามารถอ้างตัวเป็นนักท่องเที่ยวแนวอารธรรมได้เต็มปาก หากผมไม่เคยไปเยือนดินแดนที่ทั้งยิ่งใหญ่และเก่าแก่ย้อนกลับไปได้ถึงยุคกำเนิดอารยธรรมของโลก
ประเทศที่มีความมลังเมลืองทั้งในแง่ของศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม ศิลปกรรมและสิ่งก่อสร้าง
ประเทศซึ่งเป็นจุดกำเนิดศาสนาสำคัญของโลกถึง 3 ศาสนา ความยิ่งใหญ่เหล่านี้ได้มีอิทธิพลแผ่ขยายปกคลุมไปยังศิลปะวัฒนธรรม ความเชื่อของประเทศน้อยใหญ่อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งนั่นก็รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย
ประเทศที่มีสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการยกย่องเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ถึงตรงนี้ ผมคิดว่าคุณคงจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าประเทศที่มีคุณสมบัติทั้งหมดที่ผมเขียนถึงข้างต้น คงเป็นประเทศใดไปไม่ได้นอกจาก…อินเดีย
ด้วยความยิ่งใหญ่ของอินเดีย การเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศนี้จึงมีสถานที่ๆน่าสนใจมากมายโดยสามารถจัดเป็นเส้นทางต่างๆ กัน อาทิ เส้นทางตามรอยพระพุทธเจ้า หรือ สังเวชนียสถาน อาทิ พุทธคยา ราชคฤห์ เวสารี กุสินารา พาราณสี หรือหากอยากได้แนวธรรมชาติ อากาศดีๆ หลายคนก็เลือกเดินทางไปแคชเมียร์ เมืองที่ความสวยงามของภูมิประเทศและภูมิอากาศจนทำให้ได้รับการเรียกขานว่าเป็นสวรรค์บนดิน นอกจากนั้นยังมีมุมไบ เมืองสำคัญทางการค้าและการเงิน , บังกาลอร์ ศูนย์กลางไอที หรือ กัลกัตตา ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าฯลฯ
สำหรับการเดินทางของผมในคราวนี้ เนื่องจากเป็นคนชอบเที่ยวแนวอารยธรรมอยู่แล้วผมจึงตัดสินใจไปเยือนอินเดียครั้งแรกในชีวิตด้วยการเลือกเส้นทาง Golden Triangle of India หรือสามเหลี่ยมทองคำแห่งอินเดียซึ่งคุณคงสงสัยว่าสามเหลี่ยมทองคำแห่งอินเดียที่ผมพูดถึงคืออะไร
สามเหลี่ยมทองคำแห่งอินเดีย
เป็นคำเรียกเมือง 3เมืองที่เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของประเทศอินเดีย อันประกอบไปด้วย
นิวเดลี (New Delhi)
เมืองหลวงในปัจจุบันซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจทางการปกครองและเศรษฐกิจของประเทศ
อักรา (Agra)
เมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของอินเดียในสมัยราชวงค์โมกุล ที่สำคัญเมืองนี้คือที่ตั้งของอนุสรณ์สถานแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ ทัชมาฮาล
ชัยปุระหรือชัยปูร์ (Jaipur)
เมืองที่ได้รับสมญานามว่า เมืองสีชมพู เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ไม่มีใครเหมือน โดยมีพระราชวังสายลมเป็นไฮไลท์สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนมาเยี่ยมชมในแต่ละปี
ผมต้องสารภาพกับคุณตรงๆว่าจากการติดตามอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวไปอินเดียของคนที่เคยเดินทางไปเยือนประเทศนี้แล้ว ผมยังไม่พร้อมจะเดินทางเที่ยวประเทศนี้ด้วยตนเองหรือ Backpackไปเหมือนกับประเทศอื่นๆที่ผมเคยทำ การเดินทางไปอินเดียในคราวนี้ ผมจึงใช้บริการของบริษัททัวร์และด้วยโปรแกรมต่างๆที่บริษัททัวร์วางไว้ค่อนข้างจะเรียกว่ามีความสะดวกสบายอย่างที่สุดจนผมอยากจะพูดว่าเป็นการเดินทางที่กินในวัง นอนในวัง หรือถ้าจะเรียกว่าทริปนี้เป็น “ทริปมหาราชา” ก็คงได้
ผมเดินทางไปอินเดียคราวนี้ราวๆปลายเดือนพฤศจิกายนโดยสายการบินไทยซึ่งบินออกจากกรุงเทพเวลา 19.50 น. และใช้เวลาบินราว ๆ 4ชั่วโมงก็เดินทางถึงสนามบินอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดียราว ๆ 5 ทุ่ม
สิ่งแรกที่รู้สึกได้เมื่อไปถึงอินเดียและเป็นสิ่งที่ผมไม่เตรียมใจมาก่อนคือ….หนาว ( ผมทราบมาบ้างว่าอากาศจะหนาวแต่ไม่คิดว่าจะหนาวขนาดนี้ )
อินเดียช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคมอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนมีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง กล่าวคือช่วงกลางวันอาจจะมีอุณหภูมิประมาณ 25 องศา ในขณะที่กลางคืนอุณหภูมิอาจจะจะลดลงเหลือเพียงแค่เลขตัวเดียว หรือประมาณ 8-9 องศาเท่านั้น ในบางวันที่อากาศดีๆ ความหนาวยะเยือกอาจจะมาเยือนเราตั้งแต่กลางวันก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากคุณจะเดินทางไปเที่ยวอินเดียช่วงเดียวกันกับผม ผมแนะนำให้พกเสื้อ Jacket ดีๆไปด้วยสักตัวก็จะช่วยได้มาก
คืนแรกในเมืองหลวงของอินเดียในวันที่ผมไปถึง ผมไม่ได้ทำอะไรมากเนื่องจากเมื่อไปถึงกรุงนิวเดลีก็ค่ำมืดแล้ว ผมจึงแค่เดินทางจากสนามบินไป check in เข้าพักที่โรงแรม Intercontinental แล้วก็เข้านอนเลย
- โรงแรม Intercontinental ที่พักในคืนแรก
วันรุ่งขึ้นผมต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืดและรีบไปทานอาหารเช้าให้เสร็จก่อน7 โมงเช้าเพื่อจะออกเดินทางไปเมืองชัยปุระเนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกล แต่ก่อนที่จะออกจากเดลี เราได้แวะไป City Tour แบบด่วนๆในเมือง Delhi กันก่อน
Delhi
ถึงตรงนี้ผมอยากจะเล่าเพิ่มเติมถึงชื่อเดลี หรือเดลลีสักเล็กน้อยเพราะคุณอาจจะเคยงุนงงสับสนว่าจริงๆ แล้ว เมืองหลวงของอินเดียคือ Delhi หรือNew Delhi กันแน่ แล้วตกลงเจ้า 2 ชื่อนี้มันเป็นเมืองเดียวกันหรือเปล่า?
จริงๆแล้ว Delhi เป็นเมืองเก่าของอินเดียที่มีมาหลายพันปีแล้ว และเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองมาถึง 7 ครั้งจึงมีอีกชื่อเรียกว่าเมืองแห่ง7 นคร ต่อมาเมื่ออังกฤษได้เข้ามาปกครองอินเดียในปี คศ 1912จึงได้สร้างเมืองเดลีขึ้นมาใหม่โดยขยายพื้นที่ออกไปจากเมืองเก่าเพื่อใช้เป็นศูนย์การการปกครอง และเรียกพื้นที่ส่วนที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า New Delhi
ดังนั้น Delhi จึงแบ่งเป็นสองส่วนคือ Old Delhi ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่า กับ New Delhi ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างใหม่และปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ รัฐสภา ศูนย์กลางการปกครองต่างของประเทศ เราจึงมักจะได้ยิน 2 ชื่ออยู่บ่อยๆ
การนั่งรถชมเมืองแบบด่วนๆของเรามาจบลงที่ประตูเมือง (India Gate) เพื่อถ่ายรูปแบบรวดเร็วยังกะถ่ายรูปติดบัตรแล้วก็ไปต่อกันเลย
แต่ไหนๆ แวะไปถ่ายรูปมาแล้ว แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ผมก็อยากลุถึง India Gateให้คุณอ่านสักเล็กน้อย
India Gate เป็นซุ้มประตูที่คล้ายกับ L’Arc de Triompe ของฝรั่งเศสเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในสงครามสำคัญๆของอินเดีย โดยจารึกชื่อของทหารหลายหมื่นคนไว้ที่นี่
วัศดุที่ใช้ก่อสร้างเป็นหินทรายแดงซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมนำมาสร้างสถานที่สำคัญต่างๆทั่วอินเดีย ตรงกลางประตูจะมีตะเกียงหินทรายที่จุดไฟไว้ตลอดเวลาและไม่เคยดับเลยซึ่งคุณอาจจะแปลกใจถ้ารู้ว่าตะเกียงตัวนี้จุดไฟแบบไม่เคยดับมาตั้งแต่ปี 1932
จากประตู India Gate ใน Delhi เราก็เดินทางกันต่อไปชัยปุระซึ่งจะกินเวลาทั้งสิ้นเกือบ 4 ชั่วโมง
แต่ก่อนจะเข้าเมืองชัยปุระ คณะของเราได้ไปแวะที่เมืองชาโมด เพื่อไปทานอาหารเที่ยงกันที่พระราชวังชาโมดกันก่อนสมดัง concept นอนในวัง กินในวังที่แท้ทรู
- ทางขึ้นไปสักการะเทพเจ้า ระหว่างทางเดินไปพระราชวัง
จากจุดจอดรถ เราเดินไปสักพักก็มาถึงทางเข้าพระราชวังซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระราชวังแห่งนี้ตั้งแต่ประตูทางเข้าซึ่งเป็นตัวกำแพงวังด้านนอก
จากประตูชั้นนอกนี้ผมยังต้องเดินเข้าไปอีก ซึ่งในระหว่างทางนั้น ผมไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลยเพราะภาพวิวทิวทัศน์รอบๆนั้น สวยมากๆ อากาศก็กำลังเย็นสบาย และแค่ไม่กี่อึดใจผมก็เดินมาถึงซุ้มประตูทางเข้าชั้นใน เป็นการบ่งบอกว่าเรากำลังจะได้เห็นตัวอาคารของพระราชวังอย่างเป็นทางการแล้ว
- ตึกทางเข้าหน้าสุดของพระราชวัง ยิ่งใหญ่สวยงามมากๆ
และแล้วผมก็มาถึงตัวอาคารหลักของพระราชวังชาโมดซึ่งเป็นเพียงแค่ด่านแรก ถ้าผมจะลอดผ่านตัวอาคารนี้ไปก็จะเป็นส่วนของเขตพระราชฐานชั้นในแต่แค่อาคารด่านหน้าก็ทำเอาผมตะลึงกับความสวยของทั้งรูปทรงอาคารและการตกแต่ง และถ้าคุณมีโอกาสมายืนอยู่ตรงนี้ คุณก็คงคิดเช่นเดียวกับผม
พระราชวังชาโมด หรือ Samode Palace
เป็นพระราชวังของสุลต่านเมืองชาโมด ซึ่งจริงๆแล้วเจ้าของพระราชวังแห่งนี้ไม่ได้มีสายเลือดกษัตริย์ แต่เนื่องจากเขาเป็นชนชั้นสูงที่มีคุณูปการต่อบ้านเมืองมากมายจึงได้รับการอนุญาตให้ใช้ชื่อเหมือนเป็นสมาชิกราชวงศ์ได้ ที่พำนักของเขาก็เลยกลายเป็นพระราชวังไปด้วย
พระราชวังชาโมด เป็นพระราชวังเล็กๆ อยู่ห่างจากเมืองชัยปุระ ประมาณ 42 กิโลเมตร เป็นพระราชวังที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง ถือเป็นเพชรเม็ดเอกแห่งสถาปัตยกรรมแบบราชสถานที่เหลือมาถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นด้วยที่ตั้งของพระราชวังที่อยู่บนเขาสูงทำให้วิวทิวทัศน์ของพระราชวังแห่งนี้สวยงามและโดดเด่นแบบหาพระราชวังอื่นเทีบเคียงได้ยาก
แม้พระราชวังแห่งนี้จะมีอายุ 400 กว่าปีแล้ว แต่พระราชวังแห่งนี้ก็ยังได้รับการดูแลและบูรณะมาเป็นอย่างดีเพราะปัจจุบันตัวพระราชวังได้ถูกเปลี่ยนเป็นโรงแรมที่เปิดให้นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่ต้องการใช้ชีวิตในพระราชวังโบราณสามารถเข้าพักได้
ส่วนผมนั้นคงมีโอกาสแค่ได้มาทานมื้อเที่ยงในเขตพระราชฐานชั้นในของพระราชวังที่เคยรุ่งเรืองมากๆนี้เท่านั้น แต่แค่เพียงชั่วเวลาเพียงสั้นก็ให้ความรู้สึกเป็นมหาราชามากแล้ว คงยังไม่อาจเอื้อมถึงกับจะมาพักค้างคืนก็ได้เพราะราคานั้นก็เหมาะกับฐานะแบบมหาราชาจริงๆ
สำหรับห้องอาหารในพระราชวังจะเป็นอาหารอินเดียแท้ๆ เน้นเครื่องเทศแบบจัดๆ ซึ่งบางอย่างก็ดูไม่น่าทานเลย แต่สำหรับผมซึ่งชอบอาหารอินเดียเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมาได้ชิมรสชาติต้นตำรับแล้วต้องขอบอกว่าอร่อยมากๆ ชิมไปเสียทุกอย่าง กินหมดไปทุกสิ่ง แต่เท่าที่สังเกตุเพื่อนร่วมคณะคนอื่นๆ กินกันไม่ลงเลยทีเดียว ต้องคว้ามาม่า น้ำพริก หมูหยอง ที่ไกด์จัดเตรียมมาให้กินกันอุตลุต
สำหรับอาหารอินเดียต้องยอมรับว่าใครที่ชอบก็ชอบไปเลย แต่ใครที่ทานไม่ได้ก็แทบจะแตะไม่ได้เหมือนกันเพราะฉะนั้นถ้าจะมาประเทศนี้อาจจะต้องเตรียมใจและเตรียมความพร้อมเรื่องอาหารไว้ด้วย
หลังจากทานมื้อเที่ยงเสร็จ เราก็มีเวลาเล็กน้อย เพื่อเยี่ยมชมพระราชวังซุ่งมีมุมสวยๆ เยอะมากจริงๆ เขียนถึงตรงนี้แล้วผมก็อยากให้คุณมาเห็นกับตาแบบที่ผมเห็นนี้ด้วยจัง
ถ้าคุณสนใจอยากจะลองไปใช้ชีวิตแบบมหาราชาแบบนี้บ้างก็ลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พระราชวังชาโมด นะครับ
ผมลองเอาภาพบรรยากาศห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆมาให้คุณดูเผื่อจะเป็นแรงจูงใจประกอบการพิจารณาว่างวดนี้ควรซื้อล็อตเตอร์รี่กี่ใบดี555
พอได้เวลา เราก็เดินทางกันต่อเพื่อไปยังเมืองชัยปุระ ซึ่งเพียงแค่พ้นกำแพงพระราชวังอันหรูหรา จากชีวิตมหาราชาที่เราเห็น เราก็กลับมาสู่โลกแห่งความจริงที่เราเป็น
โลกแห่งความจริงที่น่าหดหู่ว่า อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก ชีวิตของคนจนและคนรายมันช่างต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ และมันห่างกันแค่มีเพียงกำแพงหนาใหญ่ทึบกั้นเท่านั้น
สภาพบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างรอบๆพระราชวังที่ผมนั่งรถผ่านดูซ่อมซ่อ ทรุดโทรม จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนอาศัยอยู่ได้ มันช่างแตกต่างจากความฟุ้งเฟ้อ หรูหราภายในกำแพงราวกับอยู่กันคนละโลก
จากพระราชวังชาโมดใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ เราก็เดินทางมาถึงเมืองชัยปุระ
เมืองชัยปุระ (Jaipur)
เป็นเมืองหลวงที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งของ รัฐราชสถาน (Rajasthan) เป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่า…”เมืองสีชมพู” เนื่องจากในยุคที่เมืองนี้อยู่ภายใต้การปกครองของมหาราชารามสิงห์ ได้มีการสั่งให้ทาสีเมืองทั้งเมืองให้กลายเป็นสีชมพู (แต่ผมดูยังไงก็ดูเป็นสีแดงอมส้มมากกว่า ไม่เห็นจะชมพูสักกะนิด) เพื่อรับเสด็จเจ้าชายอัลเบิร์ต มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษซึ่งต่อมาก็คือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7แห่งอังกฤษ ซึ่งได้เสด็จเยือนอินเดียในปี 1876
มหาราชารามสิงห์ต้องการสร้างความประทับใจและความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับราชวงศ์อังกฤษจึงเลือกใช้สีชมพู ซึ่งเป็นสีที่แสดงถึงการ Welcome and Hospitality มาทาเมืองทั้งเมืองให้มันเป็นสีชมพู
นอกจากนั้นยังได้สั่งให้สร้าง Concert Hall ขึ้นและตั้งชื่อว่า Albert Hall เรียกว่าเอาใจกันสุดๆไปเลย ซึ่งConcert Hall นี้ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้
เนื่องจากวันนี้ผมมาถึงชัยปุระค่อนข้างเย็น ไกด์จึงพาเราไป City Tour ด้วยการพาเราขับรถวนดูรอบๆ เมืองอีกแล้ว
เขียนถึงตรงนี้ผมก็อดที่จะบอกกับคุณตรงๆไม่ได้ว่าทริปนี้เป็นทริปที่อะไรๆก็ดี เป็นทริปมหาราชาที่ทุกอย่างดูเว่อร์วังไปหมดทั้ง โรงแรม อาหาร ที่พัก ที่เที่ยว หากแต่สุดท้ายแล้วมันกลับดูแห้งแล้งเพราะมันขาดซึ่ง…ชีวิต
ตลอดทั้งทริปผมได้ไปชมความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของพระราชวังและสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย แต่ทุกสถานที่ๆผมไปเยือนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นอดีต เป็นอดีตที่แม้จะยังคงความยิ่งใหญ่มาถึงปัจจุบัน แต่สถานที่เหล่านั้นก็ไม่มีใครเหลืออยู่แล้ว ครั้นอยากจะไปเดินดูผู้คน ดูตลาด ดูชีวิตของคนธรรมดาว่าชาวอินเดียทั่วไปเขาใช้ชีวิตกันอย่างไรก็ไม่มีโอกาส
กิจวัตรในการเดินทางทริปนี้ดูจำเจจนเป็นแพทเทิน ผมต้องออกจากโรงแรมตั้งแต่เช้า กว่าจะกลับเข้าโรงแรมก็ค่ำมืด ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็น ผมจึงได้แค่มองผ่านกระจกรถที่ขับพาพวกเราแล่นผ่านไปเท่านั้น เพราะการนั่งรถในทริปนี้คือนั่งรถจากโรงแรมไปสถานที่เที่ยว จากที่เที่ยวไปที่กิน จากที่กินไปที่เที่ยว แล้วก็กลับโรงแรม…วนลูป เรียกว่าใจคอจะไม่ให้เท้าพวกเราแตะพื้นถนนนอกเส้นทางกันเลย
แม้กระทั่ง check in กลับโรงแรมที่ Rajputana Sheraton แล้ว ทางทัวร์ก็ให้เราทานมื้อเย็นกันที่โรงแรมเลย จากนั้นต่างคนต่างก็แยกย้ายเข้านอนเลยเพราะไกด์ย้ำแล้วย้ำอีกว่าอย่าเสี่ยงไปเดินข้างนอกเพราะดึกมากแล้ว ค่อนข้างอันตราย ( นอกจากจะไม่พาไปเดินแล้ว ยังสั่งห้ามพร้อมคำขู่ไว้ด้วย)
คิดไปคิดมา…คุณรู้สึกเหมือนผมมั้ยว่านี่มันยิ่งกว่าทัวร์เด็กอนุบาลอีกนะ ประคบประหงม อนามัยกันสุดๆ เกินไปล่ะ
เนื่องจากทริปนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก จนผมคงไม่สามารถนำทั้งหมดมาเล่าให้คุณฟังในจดหมายฉบับนี้ฉบับเดียวได้ ผมเลยขอปิดท้ายทริป The Golden Triangle of India ไว้ที่การเข้าสู่เมืองชัยปุระก่อน แล้วเมื่อมีโอกาสผมจะรีบเขียนมาเล่าถึงช่วงที่ผมเริ่มเที่ยวเมืองชัยปุระกันอย่างจริงจังกับ 2 สถานที่ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกและอยากให้คุณมาเห็นเองสักครั้งนั้นคือ พระราชวังสายลม และ พระราชวังแอมเบอร์ฟอร์ท ซึ่งสวยงามเว่อร์วังอลังการสมคำเล่าลือ
อยากให้คุณอยู่ตรงนั้นด้วยจัง ถ้าคุณมาเห็นแล้วจะต้องรู้สึกทึ่งเหมือนผม
รักและคิดถึง
MGASTRONOME
9 กันยายน 2018
IG : mgastronome_travel
mgastronome_eat