ถึง….เธอ
จดหมายฉบับนี้จะนำคุณไปเที่ยวเสียมเรียบอย่างเป็นทางการแล้วครับ ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 2 ในเสียมเรียบเนื่องจากผมเดินมาถึงที่นี่ก็ดึกดื่นค่อนคืนแล้ว วันนี้ก็เลยจะเป็นวันแรกที่ผมจะได้เที่ยวอย่างจริงจัง
ตื่นเช้ามาก็เติมท้องกันด้วยอาหารอร่อยๆ ที่โรงแรมก่อนครับ ซึ่งอาหารที่โรงแรม Prince D’ Angkor Hotel ถือว่าอร่อยเลยครับ ห้องอาหารก็กว้างขวางและมีอาหารให้เลือกทานเยอะเลยทีเดียว โดยเมนูที่มาแล้วต้องลองเลยคือ ก๋วยเตี๋ยว คับ อร่อยมากๆ
มื้อเช้าวันนี้ผมจัดหนักเลยครับเพราะวันนี้ต้องไปลุยกันยาว
หลังทานมื้อเช้าเสร็จ พวกผมก็ไปรอกันที่ Lobby เมื่อได้เวลานัดทั้งไกด์ ทั้งรถก็มาถึงพร้อมกันคับ
อย่างที่บอกว่าทริปนี้ ผมจ้างบริษัททัวร์ให้จัดการเฉพาะนำเที่ยวในเสียมเรียบ3วัน 2คืน ซึ่งถือว่าคิดถูกมากคับที่เลือกมาซื้อทัวร์ท้องถิ่นที่นี่ เพราะถ้าเที่ยวเองคงพลาดอะไรไปหลายอย่างเลย อาจจะเพราะทริปนี้ผมได้ไกด์ที่ดีมากๆด้วย ผมเลยรู้สึกประทับใจและได้ความรู้กับมุมมองใหม่ๆกลับไปเยอะมาก
จุดหมายแรกของวันนี้ พวกผมต้องไปทำบัตรนักท่องเที่ยวกันก่อนคับ เป็นบัตรเข้าสถานที่ท่องเที่ยวในเสียมเรียบ 3วัน ระหว่างเที่ยวที่นี่ต้องโชว์บัตรนี้ตลอดห้ามทำหายเด็ดขาดเพราะเจ้าหน้าที่จะถ่ายรูปไว้เสร็จสับบนบัตร ดังนั้นจะใช้แทนกันก็ไม่ได้ สำคัญมากๆ คับ
ระหว่างรอทำบัตร ผมเลยถ่ายภาพแสดงปราสาทต่างๆ รอบๆ นครวัดนครธมจะเห็นได้ว่าที่จริงแล้ว นครธม เป็นชื่อเมืองนะคับเพราะกินอาณาเขตกว้างใหญ่มาก
ผมเคยเข้าใจผิดว่านครธมก็คือวัดๆนึงเหมือนกัน
แต่ที่ผมจะไปกันวันนี้ไม่อยู่ในแผนที่นะคับ เพราะไกด์ได้จัดทริปให้เราโดยเริ่มไล่ไปตามความเก่าแก่ของปราสาทจะได้เห็นวิวัฒนาการการสร้างปราสาทในแต่ละยุค
จริงๆ แล้วอารยธรรมแรกๆของเขมรเกิดขึ้นที่เขาพนมกุเลนนะคับ แต่เพราะไม่มีปราสาทเป็นชิ้นเป็นอัน เลยไม่ค่อยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว
ไกด์เลยพาเรามาเริ่มที่ บากอง (Bakong)คับ
ปราสาทบากอง (Bakong)
บากอง เป็นปราสาทหินในยุคแรกๆ ของอาณาจักรขอม เป็นวัดประจำรัชกาลของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1สร้างเมื่อ คศ 881
จะสังเกตว่าวัดนี้สร้างจากอิฐผสมหิน ซึ่งไกด์เล่าว่าถือเป็นสิ่งสำคัญที่แยกปราสาทยุคแรกๆ ออกมา เพราะยุคหลังจะเริ่มใช้หินเพียงอย่างเดียวในการสร้าง
บากอง เป็นปราสาท 5 ชั้นยอดเดียว สร้างเพื่อถวายพระวิษณุ (ปราสาทส่วนใหญ่ในเขมรสร้างถวายพระวิษณุ) ซึ่งเป็นเทพสูงสุดในนิกายที่ชาวเขมรโบราณนับถือ
รูปแบบปราสาทในเขมรจะคล้ายๆกันคือจะมีคูน้ำล้อมรอบ ทำหน้าที่เหมือนเป็นมหาสมุทรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ และต้องมีนาคทอดยาวเป็นทางเดินเพื่อเข้าไปสู่เทวสถาน เป็นสัญลักษณ์ว่าคุณได้เดินข้ามมหาสมุทรไปแล้ว
เวลาไปเที่ยวปราสาทต่างๆ จะเจอเด็กๆ มาขอทานเกือบทุกปราสาทเลยครับ ซึ่งไกด์เล่าว่าน่าเห็นใจครอบครัวของเด็กๆ กลุ่มนี้เหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านสามารถหาเลี้ยงชีพ หรือหาอาหารได้จากการหาของป่าไปขาย หรือเอามากินแต่หลังจากที่นี่เป็นมรดกโลก ชาวบ้านก็ถูกห้ามเข้าป่าเด็ดขาด การไปเก็บของป่าถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นพวกเขาจึงต้องอาศัยรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น
และในเมื่อพวกเขาไม่มีทรัพยากรและเงินทุน ทางเลือกจึงมีไม่มาก การมาขายของเล็กๆน้อยๆ หรือการมาขอเงินนักท่องเที่ยวจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องทำ
ช้างคือเครื่องมือสำคัญทั้งในทางสงครามและการสร้างปราสาทในยุคขอมโบราณ
นางอัปสรคับ มีมาตั้งแต่ปราสาทยุคแรกๆ
ถ้าคุณมาเยือนปราสาทต่างๆในเสียมเรียบจะสังเกตุว่าปราสาทขอมส่วนใหญ่จะมีนางอัปสร เพราะนอกจากจะแสดงถึงสถานที่บนสรวงสวรรค์แล้วนางอัปสรยังเป็นตัวแทนของความสุข เพราะหน้าที่ของนางอัปสรคือสร้างความสุข ความรื่นรมย์ให้เทวดา
ไกด์เลยบอกว่าใครจะให้ของฝาก อาจจะให้นางอัปสรไปตั้งบนโต๊ะทำงานหรือที่บ้านก็ดีเหมือนกันครับ
ขอเผยโฉมไกด์ของเราหน่อยคับผมประทับใจไกด์คนนี้มากจริงๆ เพราะทุกๆ ปราสาทที่ไป ไกด์คนนี้จะหาที่เหมาะๆ ร่มรื่นเย็นสบายแล้วก็ชวนพวกเรามานั่งฟังไกด์เล่าประวัติกันก่อน ไกด์จะเปิดฉากเล่า เล่า และเล่าทุกสิ่งอย่างที่รู้เกี่ยวกับสถานที่นั้นถามได้ตอบได้เหมือนอับดุลเลยคับ ผมประทับใจมาก
จริงๆ ผมว่านี่เป็นกุศโลบายที่ดีนะครับ เพราะปกติเวลานักท่องเที่ยวไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวก็จะยกกล้องหรือมือถือขึ้นถ่ายรูปเลย พอไกด์พูดอะไรก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้างเพราะมักจะเดินถ่ายรูปกันมากกว่า
ไกด์ของผมคนนี้จึงจัดแจงเอาพวกเรามานั่งฟังกันกันก่อนเลย แล้วหลังจากนั้นใครจะถ่ายรูปจะทำอะไรก็แล้วแต่เลยครับ
ปราสาทบากองเป็นปราสาทขนาดใหญ่และสูง ต้องค่อยๆปีนขึ้นไป แล้วค่อยๆดูทีละชั้นครับ ขึ้นไปถึงยอดแล้วมองลงมาก็ได้วิวที่สวยเหมือนกัน
จากบากอง เราก็ไปกันต่อที่ พระโค
ปราสาทพระโค (PREAH KO)
ปราสาท พระโค สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2เพื่อเป็นสุสานสำหรับราชวงศ์ รวมทั้งถวายเป็นการสักกะระแก่พระศิวะด้วย สันนิฐานว่าสร้างตั้งแต่ปี พศ 1424
ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ แต่งด้วยปูนปั้น อย่างที่ผมเล่าไปในตอนต้นครับว่าลักษณะวัศดุในการสร้างปราสาทแบบนี้แสดงถึงปราสาทยุคแรกๆ ของขอม
อีกนัยหนึ่ง ปราสาท 3 องค์ด้านหน้าก็เพื่อถวายเทพสูงสุดของศาสนาพรามห์มทั้ง 3 องค์ด้วย
ขณะที่เดียวกันก็จะมีปราสาทองค์เล็กรองลงมา อีก 3 หลังอยู่ด้านหลัง เป็นการสร้างเพื่อถวายมเหสีของมหาเทพทั้ง3 องค์ คือ พระแม่อุมาเทวี พระลักษมี พระสุรัสวดี
อีกอย่างที่ผมได้ความรู้จากไกด์คนนี้คือถ้าอยากรู้ว่าปราสาทไหนสร้างถวายเทพองค์ใดก็ดูได้ที่พาหนะของเทพองค์นั้นที่มักสร้างไว้ที่ปราสาทเดียวกัน
อย่างที่ปราสาทนี้เราจะเห็นวัน หรือ โคนนทิซึ่งก็ชัดเจนเลยว่าเป็นพาหนะของพระศิวะ เพราะฉะนั้นปราสาทนี้จึงสร้างถวายพระศิวะครับ
ปราสาทพระโคเป็นปราสาทที่ไม่ใหญ่มากคับ ใช้เวลาดูไม่นาน
ฝั่งตรงข้ามมีการทำรูปจำลองปราสาทใหญ่ในเขมร แม้จะเป็นรูปจำลองแต่ก็ใหญ่จริงๆ (ปราสาทละ 100,000กว่าบาท ) เห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้นะครับว่าจะขนกลับยังไง


ช่างฝีมือที่ทำงานพวกนี้ที่เห็นั่งแกะสลักหิน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเด็ก ซึ่งก็อดสงสารไม่ได้ครับ ก็เลยอุดหนุนงานเล็กๆมาชิ้น 2 ชิ้น
เรื่องแบบนี้บางทีก็ตัดสินใจลำบากเหมือนกันครับเพราะไม่รู้ว่าการที่ผมซื้องานเหล่านี้จะเป็นการสนับสนุนการใช้แรงงานเด็กหรือเปล่า แต่ตอนนั้นสารภาพว่าอดสงสารเด็กๆเหล่านี้ไม่ได้จริงๆ อยากให้พวกเขามีรายได้ เห็นแล้วอดใจแข็งไม่ช่วยไม่ลง
จะไปเที่ยวประเทศกัมพูชาต้องพกใจแข็งๆไปด้วยครับเพราะเรื่องราวพวกนี้คุณจะพบเห็นได้ตลอดทาง สิ่งหนึ่งที่อาจจะพอทำได้คือคุณอาจจะพกขนม ลูกอม ช็อคโกแลตติดมือไปด้วย ถ้าคุณไม่อยากช่วยด้วยเงิน ก็อาจจะให้ขนมกับเด็กๆแทนก็ได้ครับ
จากปราสาทพระโค เราก็ไปกันต่อที่ โลเลย คับ
ปราสาทโลเลย ( Lolei)
ปราสาทโลเลย เป็นปราสาทที่สร้างอุทิศให้ พระศิวะ กับพระวิษณุขณะเดียวกันก็อุทิศให้พระราชบิดา และพระราชมารดาด้วย สร้างในสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 แต่มาแล้วเสร็จในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่1 โอรสของพระเจ้าอินทวรมัน คาดกันว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่ปี พศ 1436
ความพิเศษของปราสาทโลเลยคือเป็นปราสาทที่อยู่บนเกาะ ล้อมรอบไปด้วยน้ำแต่ตอนนี้น้ำที่ล้อมรอบปราสาทได้เหือดแห้งกลายเป็นทุ่งนาไปหมดแล้ว
ปราสาทนี้สร้างด้วยอิฐเป็นส่วนใหญ่ และตอนที่ผมไปปราสาทกำลังถูกบูรณะอยู่ครับ
ที่ปราสาทนี้ไกด์ให้ทายด้วยคับว่าปราสาทที่เห็นบางองค์สร้างถวายเทพองค์ไหนซึ่งผมจำคำพูดของไกด์ได้ว่าวิธีดูว่าสร้างถวายเทพองค์ไหนให้ดูพาหนะ
พอเห็นที่ทับหลังของปราสาทเป็นช้าง ผมก็เลยทายได้ถูกต้องครับว่าปราสาทองค์นั้นสร้างถวายพระอินทร์ (พอมีความรู้บ้างเหมือนกันเฮะ 555)
ปัจจุบันปราสาทโลเลยจะมีวัดและพระจำพรรษาอยู่ด้วย ซึ่งไกด์เล่าว่าวัดนี้เป็นวัดที่คนนิยมมาเล่นน้ำสงกรานต์มากที่สุด คนจะเยอะมากๆในช่วงนั้น
เสร็จจากปราสาทโลเลย ก็ได้เวลาอาหารเที่ยงพอดีครับ วันนี้ไกด์พาพวกผมไปทานบุปเฟย์กันที่ร้าน Tonle Chaktomuk Restaurant ซึ่งไกด์บอกว่าเป็นร้านของคนไทย ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับพิพิธพันธ์ Angkor National Museum เลยคับ
อาหารส่วนใหญ่ในร้านจะผสมๆกันระหว่างเวียดนาม ไทย แล้วก็ฝรั่ง ส่วนอาหารกัมพูชาแบบท้องถิ่น ผมไม่แน่ใจเลยครับว่ามีเมนูอะไรบ้าง ผมคิดว่าเมนูหลายๆเมนูก็คงเหมือนๆกับบ้านเรา เพียงแต่เวลาพูดถึงอาหารกัมพูชามันก็จะนึกไม่ค่อยออกครับว่ามีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์และโด่งดัง
ผมเองก็ถามไกด์ว่าแล้วมากัมพูชาต้องกินอะไร ไกด์ก็ตอบว่า ห่อหมก กับก๋วยเตี๋ยวครับ
อย่างหนึ่งที่ต่องชมร้านนี้คืออาหารเยอะมาก เยอะมากกกกจริงๆ จนถ้ากินทุกอย่างที่มีในร้านต้องท้องแตกแน่ๆครับ
ขนาดวันนั้นผมยังกินไปได้ไม่กี่อย่าง แต่ก็ต้องยอมแพ้ครับเพราะอิ่มมากจริงๆ อาหารล้นร้านเลยครับสำหรับบุฟเฟย์ที่นี่ ถือว่าถ้ามาเสียมเรียบมาลองได้เลย แต่รสชาติต้องบอกไว้ก่อนว่าแค่ประมาณนึงนะครับ ผมไม่ได้ประทับใจมาก แต่เรื่องปริมาณนี่ให้ 10 เต็มครับ
อิ่มท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาเดิมข้ามถนนไป Angkor National museum ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามคับ
Angkor National Museum
เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่มีพื้นที่มากกว่า 20,000ตร.ม. มีห้องจัดแสดงโบราณวัตถุขนาดใหญ่ถึง 8 ห้อง และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็บริหารจัดการโดยคนไทย (อีกแล้ว)
Angkor National Museum มีโบราณวัตถุที่สำคัญของอาณาจักรขอมจากยุคต่างๆ กว่า 2,000 ชิ้นเลครับ เรียกว่าใช้เวลาเดินดูพอสมควรเลย รวมทั้งไกด์เองก็เล่าเรื่องราวต่างๆชนิดที่ว่าจำกันไม่หวาดไม่ไหวเลยครับ
ด้านในห้ามถ่ายภาพนะคับ เลยเก็บมาแต่ด้านนอก
จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์ เราก็ไปกันต่อที่สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในทริปนี้ สถานที่ๆได้รับการกล่าวขานว่าต้องไปเห็นให้ได้สักครั้งก่อนตายนั่นคือ…นครวัด ครับ
และเหมือนเดิมเอไปถึง ไกด์ของเราหาที่เหมาะๆ ใต้ต้นไม้ใหญ่ริมคูน้ำของนครวัด เล่าเรื่องราวของนครวัดแบบย่อๆ ให้ฟังก่อน


นครวัด Angkor Wat
นครวัด เป็นหมู่ปราสาทและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่รวมกว่า 1.6 ล้านตารางเมตร แรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเป็นเทวลัยในศาสนาฮินดูเพื่ออุทิศถวายแด่พระวิษณุ ก่อนจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12
นครวัดสร้างขึ้นในช่วงต้นของคริสศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้ครองเมืองยโสธรปุระ (ในปัจจุบันคือเมืองพระนคร) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิเขมรในตอนนั้น สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเทวลัยประจำรัชกาลและเป็นสุสานฝังพระศพ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการนับถือลัทธิไศวนิกายของกษัตริย์องค์ก่อนๆ เหตุเพราะนครวัดนั้นสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุแทนที่จะเป็นพระศิวะ
นครวัดได้รวมเอาการวางผังพื้นฐานในสถาปัตยกรรมเขมรสองแบบมาใช้ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ ผังการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา และการสร้างปราสาทแบบมีระเบียงคดที่มีภาพสลักต่างๆ
การสร้างปราสาทรูปแบบนี้ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถิตของเทพในศาสนาฮินดู ด้านนอกมีคูน้ำและกำแพงล้อม ความยาวรวมกว่า 3.6 กิโลเมตร โดยตัวปราสาทประกอบด้วยระเบียงคดสี่เหลี่ยมที่มีภาพสลักทั้งหมดสามชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่สูงกว่าชั้นล่าง ตรงกลางของปราสาทคือพระปรางค์ที่มีทั้งหมด 5 ยอด
นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทในพระนครปราสาทอื่นๆ เนื่องจากมีการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนักวิชาการต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างออกไปในเรื่องนัยยะของการสร้างในลักษณะนี้ นครวัดยังได้รับการยกย่องในด้านความงามและความกลมกลืนของตัวสถาปัตยกรรม อาทิ ภาพสลักนูนต่ำที่ใหญ่โต รวมถึงภาพเทวดาที่มีการตกแต่งตามผนังเป็นจำนวนมากจนได้รับการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโกในปี ค.ศ. 1992
ถ้าคุณจำได้ถึงลักษณะปราสาทเขมรที่สร้างจำลองจากเขาพระสุเมร คุณจะต้องข้ามผ่านสะพานนาคราชที่เป็นเสมือนการที่คุณได้ก้าวข้ามมหาสมุทรไปแล้ว คุณก็จะเจอกับโคปุระ หรือพลับพลาทางเข้า ซึ่งบริเวณนี้จะมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ให้สักการะด้วย
สิ่งที่พลาดไม่ได้บริเวณโคปุระตะวันตกนี้ก็คือ นางอัปสรา ที่ยิ้มเห็นฟัน ซึ่งมีแค่องค์เดียวจากนางอัปสราทั่วนครวัดกว่า 2000 องค์ในนครวัด
แต่บริเวณทางเข้าจะมีนางอัปสรที่แปลกกว่านางอัปสรทั้ง 2000 องค์ คือเป็นนางอัปสรที่ยิ้มเห็นฟัน เพียงองค์เดียวเท่านั้นทั้งนครวัด
จากประวัติข้างต้นผมนำมาจาก Wikipedia แต่ไกด์เล่าเสริมว่านครวัด สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เพื่อบูชาพระวิษณุ และเพื่อให้เป็นที่ เก็บพระศพของพระองค์ เมื่อยามสิ้นพระชนม์ ดังนั้น นครวัด จึงแตกต่างกับปราสาทอื่นๆ ตรงที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศของผู้ตาย
ตามธรรมเนียมของขอม จะมีการตั้งพระนามใหม่ ถวายกับกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 นั้นมีพระนามหลังสิ้นพระชนม์ว่า “บรมวิษณุ” นครวัด จึงมีอีกชื่อว่า “บรมวิษณุมหาปราสาท”
ใครมาถึงนครวัด ภาพที่ต้องไปถ่ายคือนครวัดที่สะท้อนกับพื้นน้ำ แต่เผอิญช่วงท่ผมไปน้ำน้อยไปนิด แถมมีปราสาทกำลังบูรณะอีก ( ให้มันได้แบบนี้สิ 555)
การสร้างปราสาทนครวัด ต้องใช้หินปริมาตรหลายล้าน ลูกบาศก์เมตร ที่นำมา จากเทือกเขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดกว่า 50 กม มีการใช้ช้างนับพันเชือก ในการขนย้าย ใช้แรงงานนับแสนคนในการก่อสร้างตกแต่งใช้เวลาสร้างกว่า30 ปี
นครวัดมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก มีความยาวถึง 1.5 กม. และกว้าง 1.3 กม. รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1,219 ไร่
องค์ประกอบของปราสาทนครวัด
สถาปัตยกรรมหลักของนครวัดมาจากศิลปะแบบของที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปิรามิดปราสาทและระเบียงคตที่เชื่อมต่อกัน
ในส่วนของปิรามิดปราสาทนั้นจะมีสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งเป็นสัดส่วนด้วยระเบียงคต มีโคปุระอยู่ทั้งสี่ทิศและศาลาที่มุมทั้งสี่มุม เป็นเสมือนปราสาทบริวารล้อมรอบของปรางค์ประธาน
การสร้างนครวัด จำลองคติทางศาสนาฮินดู อาทิ คูเมืองจะหมายถึงมหาสมุทรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ถัดจากมหาสมุทรก็จะเป็นระเบียงคตที่เชื่อมกันรอบปราสาท เป็นตัวแทนเทือกเขาน้อยใหญ่ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุที่ประทับของเทพเจ้า และตัวปราสาทปรางค์ประธานก็คือยอดเขาพระสุเมรุนั่นเอง
ไม่ใช่แค่ความยิ่งใหญ่เชิงโครงสร้าง แต่งานแกะสลักตกแต่งก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน
โดยเฉพาะเหล่านางอัปสรที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ซึ่งทั้งนครวัดมีอยู่กว่า 2000 องค์
นอกจากนั้นยังมีภาพสลักบนผนังด้านในของระเบียงคตชั้นล่างของตัวปราสาทที่เรื่องราวส่วนใหญ่จะมาจากมหากาพย์และคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู รวมทั้งความยิ่งใหญ่ของผู้สร้างนครวัดแห่งนี้ไว้ด้วย ซึ่งหนึ่งในภาพที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะให้ความสนใจเป็นพิเศษคือภาพกองทัพชาวสยาม ซึ่งผมเองก็ถามไกด์ว่ารู้ได้อย่างไรว่าเป็นชาวสยาม ไกด์ก็เดินไปชี้จุดให้ดูว่าเขียนไว้ตรงนี้
นอกจากนั้นยังมีภาพสำคัญๆ ที่ไม่ควรพลาดอีกมาก เช่น ภาพการรบที่ทุ่งกุรุเกษตรจากมหาภารตะยุทธ ภาพขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ภาพการตัดสินความคดีและความชั่วของพญายม ภาพการกวนเกษียรสมุทร เป็นต้น
ไกด์บอกว่าสมัยก่อนคงจะสวยงามกว่านี้มาก เพราะจะมีไม้ที่แกะสลักอย่างวิจิตรพิศดารมาเป็นส่วนประกอบประตูหน้าต่างและโครงสร้างต่างๆด้วย

ขนาดหินยังแกะซะขนาดนี้
มุมนี้จะมีนางอัปสรให้เห็นมากที่สุด 10 กว่าองค์คับ ไกด์เป็นคนชี้จุด
ทางขึ้นไปยอดปราสาทชันมาก แต่เดี๋ยวนี้มีทำบันไดให้แล้ว แต่ก็ยังชันอยู่ดี
ผมมีโอกาสไปเยือนสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในหลายๆที่ ทั้งกำแพงเมืองจีน ทัชมาฮาล สโตนเฮนจ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าแต่ละที่มีความสวยงามและยิ่งใหญ่แตกต่างกันไป แต่นครวัด ทั้งในแง่ขนาด และความวิจิตรมลังเมลืองของศิลปะและสถาปัตยกรรมนั้นไม่เป็นสองรองใคร สมกับที่ Arnold Joseph Toynbee นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีชาวอังกฤษกล่าววลีที่ลือลั่นโลกไว้ว่า…See Angkor Wat and Die
ในชีวิตนี้มันต้องไปเห็นให้ได้สักครั้งจริงๆครับ
พวกผมเดินเที่ยวนครวัดจนเย็นมากๆ ได้บรรยากาศโพล้เพล้ รู้สึกวังเวงดีเหมือนกันครับ แต่ถ้าให้อยู่ค่ำมืดไปกว่านี้คงไม่เอาแน่
ก็ได้เวลาไปทานอาหารเย็นคับ วันนี้พวกผมจะไปกินมื้อเย็นกันที่เชียงใหม่ (อ้าว ยังไง)
จริงๆ แล้วเราไม่ได้เดินทางข้ามประเทศกลับไปเชียงใหม่นะครับ แต่เชียงใหม่ที่ผมเขียนถึงเป็นร้านอาหารไทยในเสียมเรียบคับ ชื่อว่าร้านเชียงใหม่ เป็นร้านที่มีชื่อเสียงอยู่ที่นี่และแน่นอนเป็นธุรกิจของคนไทย (อีกแล้ว)
เห็นป้ายนี้แล้วขำๆ คับ โดยเฉพาะน้ำแตงโม ใช้ ๆ แทน ต คงเห็นหลังมันหักเหมือนกัน 55( ขนาดมีเจ้าของเป็นคนไทยนะ)
ส่วนอาหารของที่นี่ต้องยอมรับเลยคับว่าอร่อยจริงๆครับ ไม่ผิดหวังเลยทั้งๆ ที่หลังจากสอบถามเลยรู้มาว่าแม่ครัวร้านนี้เป็นคนเขมร แต่ทำอาหารรสไทยได้จัดจ้านเลยครับ (ไกด์บอกว่าอาหารเขมรจริงๆ จะจืดกว่าไทยหน่อย)
หลังจากอิ่นแล้วก็กลับโรงแรมกันคับ แต่ก่อนเข้าห้องพวกผมตัดสินใจพากันเดินไปร้านไอติมเล็กๆ น่ารักๆ ที่เล็งๆ กันไว้ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เพราะเห็นร้านดูทันสมัยดี เลยอยากรู้ว่ารสชาติจะเป็นไง
พอลองทานแล้วอร่อยดีคับ แต่ก็อาจจะไม่เท่ากับที่เราเคยทานซึ่งรสชาติแบบนี้ก็อาจจะเป็นรสของคนที่นี่ด้วยนะครับ
วันนี้ถือว่าผมได้นำคุณไปเที่ยวสถานที่สำคัญค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะนครวัดที่คุณควรไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่สำหรับผม…นครวัดไม่ใช้สิ่งก่อสร้างที่ทำให้ผมว้าวและประทับใจที่สุดในทริปนี้
สถานที่ๆทำให้ผมถึงกับอึ้งในความสวยงามยิ่งใหญ่และสร้างความประทับใจให้ผมมากที่สุดในทริปคือ..นครธม ครับ ซึ่งผมจะเขียนมาเล่าให้คุณอ่านในจดหมายฉบับต่อไป
รอติดตามอ่านนะครับ
อยากให้คุณไปอยู่ตรงนั้นด้วยกัน
รักและคิดถึง
Mgastronome
One thought on “รักระหว่างรบ Cambodia Trip : นครวัด เสียมเรียม พนมเปญ , กัมพูชา Part 4 : Day 2 Siem Reap : บากอง – พระโค – โลเลย – Angkor National Museum – นครวัด”